วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2568

 

EP.192 เนินต้นสนแห่งเมืองบวนมาถวต


การอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนอยู่มากมายสิ่งที่จะต้องพบเจอและหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ความวุ่นวาย ความเร่งรีบและความจอแจซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่เมืองใหญ่หลายเมืองพยายามจะหาทางแก้ไขซึ่งการย้ายผู้คนออกจากเมืองมันคือเรื่องที่เป็นไปได้ยากโดยสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายมากที่สุดนั่นก็คือ การสร้างจุดพักผ่อนหย่อนใจและพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองเพื่อให้เป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถมาพักผ่อนและหลีกหนีความวุ่นวายได้

ตอนผมไปเที่ยวที่เมืองบวนมาถวตในประเทศเวียดนามก็พบว่าที่นี่มีความวุ่นวายไม่ต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆของเวียดนาม แม้ว่าบวนมาถวตอาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาติอื่นๆแต่ที่นี่ก็เป็นเมืองหลวงแห่งกาแฟของเวียดนามซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงโด่งดังมากพอสมควร

ผมไปพักอยู่ที่บวนมาถวตอยู่ประมาณ 2 คืนโดยสิ่งที่ทำได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆก็คือการเดินเท้าเพื่อสำรวจเมืองและก็ได้ไปเจอสิ่งที่สะดุดตาซึ่งนั่นก็คือ เนินต้นสน ซึ่งจะมีต้นสนจำนวนมากตั้งเรียงรายเป็นทิวแถวดูสวยงาม แม้ว่าเนินต้นสนในเมืองบวนมาถวตจะไม่ได้ถูกจัดตกแต่งให้เป็นจุดท่องเที่ยว แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นที่ถูกรู้จักในหมู่คนรุ่นใหม่เพราะที่นี่กลายเป็นจุดที่หนุ่มสาวชาวเวียดนามจะใช้ในการพักผ่อน ถ่ายรูปเช็คอินแล้วอัพลงโซเชียล

นอกจากนั้นบริเวณเนินต้นสนก็มีความเงียบสงบซึ่งแม้ว่าช่วงที่ผมไปตรงบริเวณจะมีการก่อสร้างแต่ก็ยังคงมีความเงียบ นอกจากนั้นก็ยังมีความร่มรื่นจากบรรดาต้นสนจำนวนมากที่คอยให้ร่มเงาแก่ผู้ที่ผ่านเข้ามาซึ่งเนินต้นสนที่บวนมาถวตจะตั้งอยู่ติดกับโบสถ์คริสต์และตั้งอยู่ห่างจากย่านใจกลางเมืองประมาณ 5 กิโลเมตรซึ่งผมใช้วิธีเดินเท้าไปนั่นจึงทำให้ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เมื่อไปถึงก็นับว่าเป็นจุดที่เงียบและเหมาะแก่การปลีกวิเวกเป็นอย่างยิ่ง


เนินต้นสนในเมืองบวนมาถวตจะตั้งอยู่ห่างจาก
จุดใจกลางเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร

ผมไปถึงประมาณช่วงบ่าย 3 โมงซึ่งยังมีแดดพอสมควร
แต่ก็ไม่ร้อนจนเกินไปเพราะได้ต้นสนที่คอยให้ร่มเงา

ปัจจุบันกลายเป้นสถานที่ที่พวกวัยรุ่นหนุ่มสาว
มักจะแวะมาพักผ่อนถ่ายรูปรวมไปถึงถ่ายพรีเวดดิ้ง


คลิปวีดีโอ


เขียนโดย MarkMetalFootballTravel
29 มีนาคม 2568

วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2568

 

EP.191 สถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน


การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครในยุคปัจจุบันถือว่ามีความครอบคลุมและมีความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก เพราะรถไฟฟ้าได้มีหลายสายและบางสายก็ถูกเชื่อมต่อการเดินทางเข้าถึงกันทำให้เป็นการง่ายในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงก็เป็นอีกหนึ่งสายยอดนิยมของผู้โดยสารซึ่งเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2564 โดยแบ่งการวิ่งออกเป็น 2 เส้นทางคือ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มแลรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน

สำหรับในบทความนี้ผมจะพูดถึงหนึ่งในเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนซึ่งก็คือ สถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน โดยตัวสถานีจะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตบางซื่อซึ่งในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนนอกจากจะมีสถานีบางซ่อนแล้วก็ยังมีสถานีบางบำหรุและสถานีตลิ่งชัน โดยสถานีบางซ่อนจะเป็นสถานีเดียวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งพระนคร นอกจากนั้นก็ยังเป็นสถานีเดียวที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง

ผมมีโอกาสได้เดินสำรวจบรรยากาศของสถานีรถไฟฟ้าบางซ่อนก็พบว่าอาจจะไม่ได้เป็นสถานีที่มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากมายนัก แต่ถึงกระนั้นก็เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดงกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงรวมถึงยังเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองซึ่งจะมีรถไฟมาเข้าจอดรับส่งผู้โดยสารในทุกๆวัน นอกจากนั้นในช่วงเวลาเย็นก็จะมีตลาดขายของกินและอาหารสตรีทฟู้ดมากมายซึ่งจะขายกันอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามกับสถานี


สถานีรถไฟฟ้าบางซ่อนตั้งอยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
โดยเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2564

มีห้องน้ำให้บริการซึ่งจะอยู่ใกล้กับจุดจำหน่ายตั๋วโดยสาร

ชานชาลาที่สถานีรถไฟฟ้าบางซ่อนซึ่งผู้โดยสาร
สามารถเดินทางไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้

จุดเชื่อมต่อเพื่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีม่วง
ซึ่งใช้ชื่อว่า สถานีบางซ่อน เหมือนกัน

เส้นทางของรถไฟชานเมืองจะตั้งอยู่ติดกับสถานี
โดยจะมีรถไฟบางขบวนมาเข้าจอดรับส่งผู้โดยสารที่นี่


คลิปวีดีโอ


เขียนโดย MarkMetalFootballTravel
19 มีนาคม 2568

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2568

 

EP.190 อนุสาวรีย์พระสงฆ์ทิก กว๋าง ดึ๊ก


ประเทศเวียดนามในสมัยยุคอดีตเคยถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ โซนตอนเหนือและโซนตอนใต้ซึ่งทั้ง 2 ฝั่งเคยหยิบอาวุธมาสู้รบห้ำหั่นกันเองในช่วงยุคสงครามเวียดนาม สำหรับเวียดนามใต้ในช่วงยุคทศวรรษที่ 50-60 มีผู้นำที่ชื่อว่า โง ดินห์ เดียม ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของเขามีนโยบายเชิดชูศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและทำการกดขี่ต่อพุทธศาสนาในเวียดนามอยู่มากพอสมควร

เมื่อศาสนาพุทธถูกกดขี่อย่างหนักนั่นจึงทำให้สร้างความเดือดร้อนให้แก่พระภิกษุสงฆ์รวมไปถึงบรรดาชาวพุทธในเวียดนามกันอย่างถ้วนหน้าซึ่งกลุ่มชาวพุทธก็ได้ใช้วิธีโต้ตอบไปถึงรัฐบาลโงดินห์เดียมซึ่งวิธีการโต้ตอบก็เป็นไปอย่างสันติวิธีแต่การกระทำก็ได้สร้างความช็อกให้แก่ผู้คนทั้งที่เป็นชาวเวียดนามรวมไปถึงชาวต่างชาติอีกมากมาย

สำหรับวิธีการตอบโต้นั้นก็มาจากพระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีนามว่า ทิก กว๋าง ดึ๊ก ซึ่งท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดีและได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก โดยวิธีการที่ท่านเลือกกระทำก็คือ การจุดไฟเผาตัวเอง ซึ่งท่านได้กระทำการในพื้นที่กลางกรุงไซ่ง่อนหรือนครโฮจิมินห์ในปัจจุบันซึ่งวันที่ท่านได้ทำการเผาตัวเองประท้วงก็เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ปี 1963

แม้ว่าการกระทำของท่านจะไม่ได้ทำให้รัฐบาลของโงดินห์เดียมเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือหมดจากอำนาจ แต่การเผาตัวเองของท่านในครั้งนี้ก็เป็นการส่งสัญญาณไปทั่วโลกและเป็นการแสดงออกของชาวพุทธที่ไม่ทนต่อการถูกกดขี่ซึ่งการกระทำของท่านก็เป็นไปอย่างสันติวิธีโดยถึงแม้ว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของท่านจะเป็นการจบชีวิตของตนเองและนำความโศกเศร้าให้แก่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และชาวพุทธทั่วประเทศเวียดนาม แต่ท่านก็มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่และต้องการทำนุบำรุงและพิทักษ์ศาสนาพุทธให้อยู่ดำรงไปตลอดกาล

โดยเหตุการณ์ที่พระสงฆ์ทิกกว๋างดึ๊กเผาตัวเองกลางกรุงไซ่ง่อนก็ทำให้เกิดการสร้างอนุสาวรีย์ของท่านซึ่งในปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่เขต 3 ของนครโฮจิมินห์ซึ่งรูปปั้นของท่านก็เป็นแบบสัมฤทธิ์โดยลักษณะของรูปปั้นก็เป็นการนั่งสมาธิอยู่บนฐานหินแกรนิตและมีรูปปั้นไฟที่กำลังลุกมอดไหม้ร่างกายของท่านอยู่ซึ่งเป็นรูปปั้นที่ทำมาจากเหตุการณ์จริงที่ท่านทำการเผาตัวเองกลางกรุงไซ่ง่อน

นอกจากนั้นยังมีภาพแกะสลักอยู่บริเวณด้านหลังอนุสาวรีย์ซึ่งจะเป็นภาพจำลองจากเหตุการณ์จริงที่ทั้งพระภิกษุ ภิกษุณีและชาวพุทธยืนล้อมวงดูเหตุการณ์ที่พระสงฆ์ทิกกว๋างดึ๊กทำการเผาตัวเอง ขณะที่บรรยากาศรอบๆอนุสาวรีย์จะจัดเป็นสวนขนาดย่อมๆซึ่งทำให้ผู้เข้าไปเยี่ยมชมรู้สึกสดชื่นและผ่อนคลาย นอกจากนั้นในแต่ละวันก็มักจะมีชาวเวียดนามหลายคนมากราบสักการะหน้ารูปภาพแกะสลักของพระสงฆ์ทิกกว๋างดึ๊กกันอยู่ตลอด


อนุสาวรีย์พระสงฆ์ทิก กว๋าง ดึ๊ก ตั้งอยู่ในเขต 3
ของนครโฮจิมินห์ในประเทศเวียดนาม

ภาพด้านหลังอนุสาวรีย์จะเป็นภาพที่ท่านทำการเผาตัวเอง
โดยมีพระสงฆ์ ภิกษุณีจำนวนมากยืนรายล้อมอยู่ในเหตุการณ์

อีกฝั่งด้านหนึ่งของถนนจะมีรูปภาพแกะสลักของท่าน
พร้อมจุดให้ผู้คนได้มากราบสักการะ

ป้ายนี้เป็นการบอกปีเกิดรวมไปถึงวันที่ทำการเผาตัวเอง
ของพระสงฆ์ทิกกว๋างดึ๊ก

ในแต่ละวันจะมีชาวเวียดนามมากราบสักการะ
ต่อหน้ารูปภาพแกะสลักของท่านกันพอสมควร


คลิปวีดีโอ


เขียนโดย MarkMetalFootballTravel
10 มีนาคม 2568

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2568

 

EP.189 บ้านพักตุน อับดุล ราซัค


ตุน อับดุล ราซัค เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศมาเลเซียในช่วงระหว่างปี 1970 - 1976 โดยระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาได้อาศัยอยู่ในบ้านพักที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ซึ่งเคยถูกรู้จักในชื่อของอาคารศรีตามัน โดยหลังการเสียชีวิตของเขาทำให้บ้านพักของเขาแห่งนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม

สำหรับบ้านพักของตุน อับดุล ราซัค เป็นบ้านพักที่มีสถาปัตยกรรมในแบบตะวันตกซึ่งเขาเคยอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี 1962 จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 1976 หลังจากนั้นในปี 1982 ก็ได้มีพิธีเปิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการและทุกคนสามารถเข้าชมกันฟรี ส่วนบรรยากาศด้านภายในจากที่ผมได้ไปเที่ยวชมก็พบว่าจะมีการจัดเป็นโซนต่างๆไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตัวบ้านพักไปจนถึงจุดของนิทรรศการที่เล่าเรื่องราวของอับดุล ราซัค

ส่วนบรรยากาศภายในบ้านพักจะถูกแบ่งออกเป็นโซนอย่างเป็นระเบียบไม่ว่าจะเป็นจุดของห้องนอน ระเบียง ห้องรับแขก ห้องละหมาด ห้องรับประทานอาหาร ซึ่งบรรยากาศของตัวบ้านค่อนข้างจะกว้างทำให้สามารถเดินชมจุดต่างๆได้อย่างเพลินตา ขณะที่จุดของนิทรรศการต้องถือว่าน่าเสียดาย เพราะวันที่ผมไปเที่ยวชมไม่ได้มีการเปิดส่วนของนิทรรศการให้ได้ชมกัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีโซนของบ้านพักในสวนซึ่งเป็นบ้านขนาดเล็กปลูกในสไตล์แบบมาเลย์ดั้งเดิมซึ่งมีความเรียบง่ายและสะท้อนความเป็นอยู่ของชาวมาเลเซียได้เป็นอย่างดี


เมื่อเดินเข้ามาภายในบ้านพักจะเจอกับโถงทางเดิน
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้นล่าง

โซนของห้องรับประทานอาหารซึ่งจัดในรูปแบบตะวันตก

ห้องทำงานของตุน อับดุล ราซัค โดยเขาอาศัยอยู่
ที่บ้านพักนี้เป็นระยะเวลาประมาณเกือบ 15 ปี

ห้องนอนและยังใช้ในการศึกษาคัมภีร์อัลกุรอ่าน
ซึ่งตุน อับดุล ราซัค เป็นชาวมุสลิมที่ค่อนข้างเคร่งครัด

สวนหย่อมขนาดเล็กตั้งอยู่ใจกลางบ้าน

บ้านพักในสไตล์ท้องถิ่นของมาเลเซีย
ถูกตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สวนหลังบ้าน

บ้านที่ตั้งอยู่ในสวนจะมีลักษณะแบบเรียบง่าย
ซึ่งตุน อับดุล ราซัคก็มักจะมาพักในบ้านหลังนี้อยู่บ่อยครั้ง

จุดของห้องครัวซึ่งแม้ไม่หรูหรา แต่ก็เป็นการสะท้อน
ให้เห็นถึงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนมาเลเซีย


คลิปวีดีโอ


เขียนโดย MarkMetalFootballTravel
4 มีนาคม 2568